เปิด 10 ของเล่นอันตราย เตือนพ่อแม่ระวังซื้อเป็นของขวัญให้ลูก

สถาบันพัฒนาเด็ก เปิด 10 ของเล่นอันตราย เตือนพ่อแม่ระวังซื้อเป็นของขวัญให้ลูก พบเป็นปัจจัยเสี่ยงก่ออุบัติเหตุ ทำให้บาดเจ็บ มีปัญหาสุขภาพ

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวเรื่อง 10 ของเล่นอันตรายที่พ่อแม่ต้องระวังในการซื้อเป็นของขวัญให้กับเด็ก ว่า ปัญหาความปลอดภัยในเด็กมี 5 เรื่องใหญ่ คือ 1. อุบัติเหตุ เช่น จมน้ำ จราจรทางถนน ความร้อน 2.ความรุนแรง การทำร้ายเด็ก 3.มลพิษ 4.ภัยพิบัติ และ 5.ภัยจากข้าวของเครื่องใช้ ผลิตภัณฑ์ โดย “ของเล่น” เรามีทำวิจัยไปหลายชนิด ตั้งแต่ทางด้านกายภาพ ด้านเคมี โดยการทดสอบว่ามีอันตราย เป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรมหรือไม่

ข่าวเด็กใหม่

ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกา หลายประเทศในยุโรป ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น มีระบบการบันทึกการบาดเจ็บจากผลิตภัณฑ์ แต่ไทยยังไม่มี ทำให้การแก้ไขถอดถอนผลิตภัณฑ์ออกจากตลาดหรือชี้และให้เจ้าของผลิตภัณฑ์นำไปแก้ไขในการผลิตจึงยังไม่เกิดขึ้น จากการใช้ข้อมูลสหรัฐฯ พบอัตราการบาดเจ็บในเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี จากของเล่นถึง 404 คนต่อ 1 แสนคน เป็นของเล่นที่มีขายในไทยแทบทุกชิ้นโดยมี 10 ของเล่นที่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นเหตุของการก่อการบาดเจ็บ บางชนิดมีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ได้แก่

1.ของเล่นประเภทลูกล้อใช้ในการขี่ (ride-on toy) มีสัดส่วนร้อยละ 30 ของการตายในเด็กที่เกิดจากของเล่น และต้องได้รับการรักษาในห้องฉุกเฉินของ รพ.อีก 71,500 รายต่อปี ร้อยละ 75 ของการตาย มีสาเหตุจากการเล่นในพื้นที่ถนนและถูกยานยนต์ชนิดต่างๆ ชน พลัดตกพื้นต่างระดับ ล้มคว่ำ ตกในแหล่งน้ำต่างๆ โดยร้อยละ 47 บาดเจ็บที่ศีรษะและใบหน้า เช่น รองเท้าสเก๊ต สกู๊ตเตอร์ ทั้งนี้ การเล่นต้องใส่อุปกรณ์เสริมความปลอดภัยทุกครั้ง

2.ของเล่นชิ้นเล็ก อุดกั้นทางเดินหายใจ อันตรายต่อเด็กที่อายุน้อยกว่า 3 ปี เพราะเด็กอายุ 4 เดือนจะเริ่มเอามือทั้ง 2 ข้างมาจับกุมกันตรงกลางแล้วเอาเข้าปากดูดอม ของเล่นที่มีความกว้างน้อยกว่า 3.71 ซม.จึงไม่ควรให้เด็กเล่นหรือหยิบได้ถึง

3. ลูกโป่ง เสี่ยงอุดตันทางเดินหายใจ โดยเด็กเป่าลูกโป่งเอง จังหวะที่หายใจเข้า เกิดโอกาสที่ลูกโป่งจะถูกดูดเข้าไปในปากและลงไปในหลอดลม หรือเอาลูกโป่งที่ยังไม่ได้เป่าเอามาอมไว้หรือเคี้ยวเล่น เมื่อวิ่ง ปีนป่าย หรือหัวเราะ อาจทำให้สำลักลูกโป่งที่อมไว้ จึงไม่ควรอนุญาตให้เด็กอายุน้อยกว่า 8 ปีเล่น

4.ของเล่นที่มีถ่านแบตเตอรี่กระดุมที่หลุดออกง่าย ทำให้เด็กเอาเข้าปากได้ง่าย หากมีแบตเตอรี่ขนาด 2.5 ขึ้นไปจะติดที่หลอดอาหารได้ง่าย ทำให้สารเคมีในถ่านรั่วซึมออกมาเป็นด่างกัดกร่อนหลอดอาหารทะลุได้

5.ของเล่นที่เป็นแม่เหล็กหลายชิ้นมากกว่า 1 ชิ้นขึ้นไปที่มีขนาดไม่ใหญ่ สามารถกลืนลงได้ง่าย หากกลืนมากกว่า 1 ชิ้น แม่เหล็กที่อยู่กันคนละตำแหน่งในลำไส้จะดูดกันทำให้หนีบผนังลำไส้ไว้แน่นจนขาดเลือด ทำให้ลำไส้ทะลุ หรือภาวะลำไส้บิดเกลียว

6.ของเล่นดูดน้ำพองตัว บางชนิดขยายได้ถึง 200 เท่า หากเด็กกลืนเข้าไป อาจเกิดภาวะลำไส้อุดตันได้ แต่หากสำลักเข้าหลอดลมจะอุดกั้นทางเดินหายใจ ขาดอากาศได้

7.ของเล่นชนิดปืน เช่น ปืนอัดลม ปืนลูกดอก ปืนเหรียญ ปืนลูกบอล เป็นต้น อาจเป็นอันตรายต่อตาได้จากแรงกระสุน ทำให้เลือดออกในช่องลูกตา บางรายอาจเกิดต้อกระจกตามมา หรือทะลุเข้าฝังในลูกตาหรือกล้ามเนื้อตา บางรายเกิดการแตกของลูกตาและต้องผ่าตัดควักลูกตาทิ้งไป

8.วัตถุระเบิด พลุ ดอกไม้ไฟ ไม่ใช่ของเล่น มักทำให้เกิดการบาดเจ็บที่มือ สูญเสียนิ้วมือ ตาบอด ใบหน้าทำให้เกิดแผลเป็น หรือไฟไหม้ทั้งตัวทำให้สูญเสียชีวิตได้

9.ของเล่นที่มีสารเคมีเป็นพิษ มี slime ที่ใช้กาวเป็นพิษต่อระบบทางเดินหายใจ ทาเลทที่ทำให้พลาสติกอ่อนนิ่มทำให้รบกวนต่อมไร้ท่อมีผลต่อฮอร์โมนร่างกาย สารตะกั่วในสีเคลือบสีพ่นมีผลต่อสมองและเม็ดเลือดแดง

และ 10.ของเล่นในน้ำอุปกรณ์ช่วยลอยตัวทั้งหลายที่มีคำเตือนว่าไม่ป้องกันการจมน้ำ เช่น ห่วงยางเป่าลมที่มักทำให้พ่อแม่เข้าใจผิดว่าสามารถปล่อยลูกตามลำพังในน้ำได้ เพราะเป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิต ข่าวเด็กแนะนำ>>> พ่อแม่มือใหม่ควรรู้! วิธีดูแลสะดือของทารกแรกเกิดให้สะอาดอยู่เสมอ