กองทุนรับเอฟเฟ็กต์ภาษี พอร์ตหุ้น-SSF ต้นทุนพุ่ง

กองทุนรับเอฟเฟ็กต์ภาษี พอร์ตหุ้น-SSF ต้นทุนพุ่ง

กองทุนยันรัฐเก็บภาษีขายหุ้น กระทบต้นทุนแต่ไม่มากนัก เผย SSF ไม่ได้รับการยกเว้น คาดเอฟเฟ็กต์กองทุนที่ลงทุนหุ้น “กลาง-เล็ก” ส่อได้รับความนิยมน้อยลง

นายชยนนท์ รักกาญจนันท์ ประธานเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท หลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุนฟินโนมีนา จำกัด กล่าวว่า การที่รัฐบาลจะเก็บภาษีขายหุ้น (FTT)

ซึ่งจะมีกองทุนที่ได้รับการยกเว้นจากการเก็บภาษีดังกล่าว 3 กองทุน คือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนประกันสังคม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ขณะที่กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) จะถูกเก็บภาษีดังกล่าว จึงมีผลกระทบ รวมถึงกองทุนรวมปกติทั่วไปที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

“ผลกระทบ ก็คือ ต้นทุนที่จะแพงขึ้น จากการเก็บภาษีหุ้น แต่ก็ไม่ได้เยอะมาก โดยกองทุนที่มีการหมุนพอร์ตที่ค่อนข้างเร็ว หรือเป็นกองทุนแอ็กทีฟก็จะโดนค่าธรรมเนียมที่เยอะขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนในระยะยาวได้ ซึ่งถ้ากองทุนที่มี turnover ratio ที่ 1.5-2% ขึ้นไป จะได้รับผลกระทบจากการเก็บภาษีขายหุ้นค่อนข้างมากกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากผลตอบแทนต่อปีอาจจะลดลง” นายชยนนท์กล่าว

การเงิน

ขณะที่นายประกิต สิริวัฒนเกตุ นักกลยุทธ์การลงทุน กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ จำกัด กล่าวว่า กองทุนเป็นอีกกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจากการเก็บภาษีขายหุ้น แต่ผลกระทบไม่มาก โดยต้นทุนจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากจนต้องกังวล เพียงแต่อาจจะทำให้ต้องลดความถี่ในการขายลง และพิจารณาในรายละเอียดการซื้อมากขึ้น

“ถ้าจะกระทบหนัก ต้องเป็นภาษีแบบ capital gain ตอนนี้ จึงถือว่ากระทบค่อนข้างน้อย เพราะเก็บในอัตราที่ต่ำและกองทุนก็เป็นกลุ่มที่ไม่ได้มีการซื้อขายบ่อยอยู่แล้ว” นายประกิตกล่าว

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุนฝ่ายกลยุทธ์ และพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุน บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า การเก็บภาษีในอัตรา 0.1% ถือว่าไม่ได้สูง

ซึ่งจะส่งผลให้กองทุนมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งดูแล้วกองทุนน่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เนื่องจากมีการซื้อขายไม่บ่อย อย่างไรก็ดี กองทุนที่จะกระทบมาก ก็จะเป็นกองทุนประเภทที่ซื้อมาขายไป แต่ก็มีอยู่ค่อนข้างน้อยมาก และเชื่อว่ากองทุนประเภทดังกล่าว ก็น่าจะค่อย ๆ ได้รับความสนใจน้อยลงเรื่อย ๆ

“กลุ่มกองทุนที่ทำ high frequency trade ที่มีการเทรดระหว่างวัน อาจจะมีสัดส่วนที่ลดลง หรือโอกาสทำกำไรจะน้อยลง ทั้งนี้ โดยหลักกลุ่มที่เป็นหุ้นขนาดกลาง ขนาดเล็ก จะได้รับผลกระทบมากกว่า เพราะต่อให้เป็น บลจ. หรือเป็นนักลงทุนปกติ ก็มักจะใช้เป็นเครื่องมือในการเก็งกำไร พอวอลุ่มหายไป กลุ่มนี้ก็จะได้รับความนิยมน้อยลง และกองทุนก็อาจจะย้ายมาอยู่ในหุ้นใหญ่มากขึ้น เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีสภาพคล่องสูง” ดร.จิติพลกล่าว

แนะนำข่าวการเงินเพิ่มเติม : ธอส.เปิดแอปช่วยลูกค้าขอกู้บ้าน จ่อปรับลดขนาด 70 สาขาในห้าง