โภชนาการ ‘เด็กไทยวัยเรียน’ พบ อ้วน หนักหนักเกิน กว่า 32%

แพทย์ เผย ‘เด็กไทย’ ยังอยู่ใน ‘ภาวะโภชนาการ’ ขาดหรือเกิน และขาดสารอาหารที่สำคัญหลายชนิด แนะปรับการบริโภคอาหารให้เหมาะสม

จากผลงานวิจัย โภชนาการเด็ก ในงานประชุมวิชาการด้านโภชนาการแห่งชาติครั้งที่ 16 หัวข้อ การแก้ปัญหาช่องว่างทางโภชนาการในเด็กเล็ก จัดโดย สมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็ก เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 พบว่า ทารกและเด็กไทยอายุระหว่าง 6 เดือน ถึง 5 ปี ประสบปัญหาภาวะโภชนาการขาดหรือเกิน และขาดสารอาหารที่สำคัญหลายชนิด

รศ.พญ.สุภาพรรณ ตันตราชีวธร นายกสมาคมโภชนาการเด็กแห่งประเทศไทย และรองคณบดี คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เปิดเผยข้อมูลการสำรวจภาวะโภชนาการในทารกและเด็กอายุ 6 เดือนถึง 12 ปี ของ SEANUT II พบว่า เด็กไทยมีภาวะ Triple burden of malnutrition ได้แก่

  • ตัวเตี้ย
  • น้ำหนักเกิน
  • อ้วน
  • ภาวะความหิวซ่อนเร้น (การขาดสารอาหารรอง)

เด็กไทยมีภาวะตัวเตี้ย 1 ใน 16 หรือประมาณร้อยละ 6.2 อยู่ในระดับที่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ที่เป็นปัญหามาก คือ ภาวะน้ำหนักเกิน/ อ้วน ในเด็กวัยเรียนซึ่งพบมากถึงร้อยละ 30-32

สุขภาพทั่วไป

ขาดสารอาหารรอง

ในขณะที่การขาดสารอาหารรอง (micronutrients) เป็นอีกปัญหาที่สำคัญ พบว่าสารอาหารรองที่เด็กไทยได้รับไม่เพียงพอจากการรับประทานอาหาร (problem nutrients) มี 6 ชนิด ได้แก่ แคลเซียม สังกะสี ธาตุเหล็ก วิตามินเอ วิตามินซี และวิตามินดี โดยเด็กไทยได้รับวิตามินดีไม่เพียงพอ ร้อยละ 94 ตามด้วย แคลเซียม ร้อยละ 76 สังกะสี ร้อยละ 72 วิตามินซี ร้อยละ 67 และวิตามินเอ ร้อยละ 54 ตามลำดับ

การขาดสารอาหารเหล่านี้ มีผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก โดยเฉพาะการขาดธาตุเหล็กและสังกะสี ทำให้เด็กมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคโลหิตจาง มีผลต่อพัฒนาการสมองและภูมิคุ้มกันของร่างกาย

ขณะที่ การขาดแคลเซียมมีผลต่อการเจริญเติบโตและความแข็งแรงของกระดูก การขาดแคลเซียมพบมากในเด็กอายุ 4 ขวบขึ้นไป เนื่องจากเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป ควรดื่มนมวันละ 2 แก้วหรือกล่อง แต่เด็กมักดื่มนมเพียงวันละ 1 กล่องเท่านั้น

“นอกจากนี้ สารอาหารอื่นที่ขาด ได้แก่ สังกะสี เนื่องจากการรับประทานเนื้อสัตว์น้อย การขาดวิตามินซี เกิดจากการรับประทานผักและผลไม้น้อย ส่วนวิตามินดีเป็นสารอาหารที่พบน้อยในอาหารที่ทารกและเด็กได้รับ ในภาวะปกติร่างกายสามารถสังเคราะห์วิตามินดีได้จากแสงแดด แต่ปัจจุบันเด็กไม่ค่อยเล่นกลางแจ้ง จึงทำให้ขาดวิตามินดี” รศ.พญ.สุภาพรรณ กล่าว