ใต้ผิวดาวอังคารยุคโบราณ อาจเต็มไปด้วยจุลินทรีย์มีชีวิต

ใต้ผิวดาวอังคารยุคโบราณ อาจเต็มไปด้วยจุลินทรีย์มีชีวิต

เทคโนโลยี

รายงานการศึกษาด้านอวกาศชิ้นหนึ่งโดยทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสที่เพิ่งได้รับการเปิดเผยออกมาเมื่อต้นเดือนตุลาคมระบุว่า ดาวอังคารในยุคโบราณอาจมีโลกใต้ดินที่เต็มไปด้วยจุลินทรีย์ขนาดเล็กมาก ซึ่งนักวิจัยชี้ว่า หากสิ่งมีชีวิตเหล่านี้มีอยู่จริง ก็น่าจะเปลี่ยนแปลงชั้นบรรยากาศไปอย่างสิ้นเชิงจนอาจก่อให้เกิดยุคน้ำแข็งบนดาวอังคาร และนำไปสู่การจบชีวิตของพวกมันในที่สุด บอริส ซอเทอเรย์ หัวหน้าทีมการศึกษาจากมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ ประเทศฝรั่งเศส กล่าวว่า สิ่งมีชีวิตพื้น ๆ อย่างจุลินทรีย์ “อาจทำให้ตัวมันเองตาย” และว่า รายงานชิ้นนี้ “ดูค่อนข้างหมดหวัง แต่ผมคิดว่า ก็ยังมีอะไรที่น่าสนใจติดตามอยู่ … ข้อมูลพวกนี้ท้าทายให้พวกเราลองคิดดูใหม่เกี่ยวกับวิถีที่โลกของสิ่งมีชีวิตและดาวเคราะห์หนึ่ง ๆ มีปฏิสัมพันธ์กัน” ตามการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Astronomy ซอเทอเรย์และทีมของเขากล่าวว่า ได้ใช้แบบจำลองสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศเพื่อประเมินความสามารถในการอยู่อาศัยบนเปลือกของดาวอังคารเมื่อประมาณ 4 พันล้านปีก่อน โดยเชื่อว่าในตอนนั้นดาวอังคารเต็มไปด้วยน้ำและมีสภาพที่เป็นมิตรต่อการอยู่อาศัยที่ดีกว่าในปัจจุบัน พวกเขาคาดการณ์ว่า ในตอนนั้น จุลินทรีย์ที่อาศัยไฮโดรเจนเพื่อดำรงอยู่และปล่อยก๊าซมีเทนออกมาอาจจะอาศัยอยู่ใต้พื้นผิวดาวอังคารที่ความลึกลงไปราวหลายสิบเซนติเมตร ที่ถูกปกคลุมด้วยสิ่งสกปรกต่าง ๆ และน่าที่จะมากพอในการช่วยป้องกันพวกมันจากกัมมันตภาพรังสีต่าง ๆ โดยซอเทอเรย์มองว่า สิ่งมีชีวิตเหล่านี้น่าที่จะจับกลุ่มกันอยู่ในทุกจุดบนดาวอังคารที่ปราศจากน้ำแข็ง เช่นเดียวกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลกในยุคแรก ๆ